อาจารย์ “มจธ.” แนะ 2 แนวทางเมื่อน้ำประปาเค็ม

Print

ในช่วงนี้สถานการณ์ "น้ำประปาเค็ม" กลับมามีปัญหาอีกครั้ง โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลที่ใช้น้ำประปาในการอุปโภคและบริโภค สาเหตุมาจากในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมานี้ น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบหลักในการผลิตน้ำประปาของการประปานครหลวง (กปน.) เกิดลดระดับลงอย่างมาก เนื่องจากภัยแล้งส่งผลให้ระดับน้ำในเขื่อนลดลง ประกอบกับในระยะนี้มีน้ำทะเลหนุนสูงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนมีไม่เพียงพอต่อการผลักดันน้ำเค็มออกไปได้ น้ำเค็มจึงเข้ามาแทนที่น้ำในเขื่อน ผู้ที่อาศัยอยู่ในหลายๆ เขตของกรุงเทพมหานคร รวมทั้งในเขตปริมณฑล จึงสามารถรับรู้ได้จากรสชาติที่เปลี่ยนไปของน้ำประปาที่ใช้อุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน และอาจจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของน้ำประปาในระยะนี้

ผศ. ดร.นุจริน จงรุจา ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า ค่าน้ำประปาคุณภาพมาตรฐาน ตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก ปี 2011 อ้างอิงจากส่วนน้ำประปา กองเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ กำหนดค่าโซเดียมของน้ำประปาไม่ควรเกิน 200 มิลลิกรัมต่อน้ำ 1 ลิตร ปกติคนเราจะดื่มน้ำประมาณ 2 ลิตรต่อวัน หากคูณกับปริมาณน้ำ 2 ลิตร ร่างกายจะได้รับโซเดียม ประมาณ 400 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งถือว่ายังไม่เกินความต้องการของร่างกาย

 

จากข้อมูลสำนักโภชนาการ กรมอนามัย แนะนำว่าไม่ควรบริโภคโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือไม่เกิน 1 ช้อนชา แต่การบริโภคโซเดียมในแต่ละวันจะมาจากการบริโภคอาหารแหล่งอื่นๆ ด้วย 

ดังนั้น น้ำประปาในช่วงที่มีค่าโซเดียมสูง จึงอาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของกลุ่มคนที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ กลุ่มที่มีความเสี่ยงที่ต้องจำกัดปริมาณโซเดียม เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคไต และเด็ก เป็นต้น จึงควรระมัดระวังการบริโภคน้ำประปาในช่วงเวลานี้ เพราะปริมาณโซเดียมที่ได้รับจะต้องพิจารณารวมกับการได้รับโซเดียมจากอาหารอื่นด้วยเช่นกัน

 

ผศ. ดร.นุจริน กล่าวทิ้งท้ายว่า ข้อแนะนำการบริโภคน้ำในช่วงสถานการณ์นี้ประชาชนคงต้องติดตามสถานการณ์ข่าว และ หากอยู่ในพื้นที่ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ อาจจะลดความเค็มของอาหารจากแหล่งอื่นๆ ลง และสำหรับเครื่องกรองน้ำโดยทั่วไปจะสามารถกรองได้เฉพาะสิ่งเจือปนที่มีขนาดใหญ่ สิ่งสกปรก หรือจุลินทรีย์บางชนิดเท่านั้น แต่จะไม่สามารถลดปริมาณโซเดียมได้ เนื่องจากขนาดไอออนของเกลือแกง และแร่ธาตุต่างๆ ที่ละลายอยู่ในน้ำ มีขนาดเล็กกว่าไส้กรองที่มีอยู่ในเครื่องกรองน้ำโดยทั่วไป จึงไม่สามารถถูกกรองได้ด้วยไส้กรองดังกล่าว

ดังนั้น จึงไม่สามารถทำให้ความเค็มลดลงได้ด้วยการกรองน้ำทั่วไป รวมถึงการต้มน้ำก็ไม่สามารถลดปริมาณโซเดียมได้เช่นเดียวกัน การลดปริมาณโซเดียมในน้ำสำหรับครัวเรือนนั้น จะต้องใช้เครื่องกรองน้ำระบบ Reverse Osmosis (R.O.) เท่านั้น จึงจะได้ผลลัพธ์ที่สามารถลดปริมาณโซเดียมจากน้ำประปาได้ ณ ขณะนี้