ความปลอดภัยทางชีวภาพ

Print

ความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosafety)

ความปลอดภัยทางชีวภาพ เป็นมาตรการดูแลความปลอดภัยสากลบนหลักพื้นฐานของความปลอดภัยต่อสุขภาพอนามัยมนุษย์ และสิ่งแวดล้อมจากอันตรายของ ชีววัตถุ (biological agent) ที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติงาน จากการวิจัย จากการ ทดลองและ/หรือสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลดีต่อการผลิตผลงานที่มีคุณภาพ และต่อสวัสดิภาพของประชาชนและชุมชน หลักการทั่วไปคือ กระบวนการความปลอดภัยในการ จัดการชีววัตถุในห้องปฏิบัติการหรือในสภาวะที่ควบคุมดูแลได้ เพื่อลดหรือจำกัด โอกาสที่คนและสิ่งแวดล้อมจะได้รับชีววัตถุที่มีอันตรายในระดับต่างๆกัน ซึ่งโดยทั่วไป มี2 ระดับ คือ ระดับพื้นฐาน (primary containment) เพื่อป้องกันคนและสภาพ แวดล้อมในห้องปฏิบัติการไม่ให้สัมผัสกับชีววัตถุที่อาจเป็นอันตราย และระดับที่ 2 (secondary containment) เพื่อการป้องกันสิ่งแวดล้อมภายนอกจากชีววัตถุอันตราย  

ประเภทของงานวิจัยและระดับความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการ

1.1 ประเภทของงานวิจัย

งานวิจัยที่เกี่ยวกับเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค (infectious agents) สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม (genetic-modified organisms) และแมลงพาหะ (arthropod vector) 

1.2 ระดับความปลอดภัยทางชีวภาพของห้องปฏิบัติการ

1.2.1 ความปลอดภัยทางชีวภาพระดับที่ 1 (biosafety level 1, BSL1)

ระบบความปลอดภัยทางชีวภาพของห้องปฏิบัติการระดับ BSL1 สามารถใช้ได้กับการวิจัยและทดลองเชื้อจุลินทรีย์ที่ไม่ก่อให้เกิดโรค หรือสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมประเภทที่ 1 ซึ่งมีอันตรายในระดับต่ำที่สุดต่อผู้ปฏิบัติงานและสิ่งแวดล้อม

1.2.2 ความปลอดภัยทางชีวภาพระดับที่ 2 (biosafety level 2, BSL2) 

ระบบความปลอดภัยทางชีวภาพของห้องปฏิบัติการระดับ BSL2 ใช้กับการวิจัยและทดลองเกี่ยวกับเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อโรคโดยเฉพาะโรคติดต่อทางเลือด ทางปากและทางผิวหนัง สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม ประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 หรือบางลักษณะของงานประเภทที่ 3 ซึ่งมีความเสี่ยงอยู่ในระดับต่ำถึงปานกลาง โดยผู้ปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการควรได้รับการฝึกเป็นพิเศษในเรื่องของเชื้อก่อโรค จากนักวิทยาศาสตร์ทางด้านจุลชีววิทยาและการทำการศึกษาสิ่งมีชีวิตก่อโรคที่อาจก่อให้เกิด  การฟุ้งกระจาย จะต้องทำในตู้ชีวนิรภัย หรืออุปกรณ์อื่นๆ ที่เหมาะสม

1.2.3 ความปลอดภัยทางชีวภาพระดับที่ 3 (biosafety  level 3, BSL3)

ห้องปฏิบัติการระดับความปลอดภัยทางชีวภาพ BSL3 เป็นระดับที่ประยุกต์เพื่อใช้กับงานวิจัยทดลองในเชิงการแพทย์ที่มีการทำงานเกี่ยวกับเชื้อก่อโรคสูง หรือระดับการผลิตในโรงงานซึ่งมีการใช้สารชีวภาพหรือสารเคมีซึ่งอาจก่อให้เกิดโรคหรือเป็น  อันตรายถึงชีวิต

1.2.4.  ความปลอดภัยทางชีวภาพระดับที่ 4 (biosafety  level 4, BSL4)

ระบบความปลอดภัยทางชีวภาพของห้องปฏิบัติการระดับ BSL4 สามารถใช้ได้กับการทดลองเกี่ยวกับเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคร้ายเเรง สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมประเภทที่ 4 รวมถึงการใช้สิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงสูงสุด หรือยังไม่ทราบระดับอันตรายที่ชัดเจน

 

รายละเอียดเพิ่มเติม
ขั้นตอนการขอรับประเมินความปลอดภัยทางชีวภาพ   Link: https://ethics.kmutt.ac.th/ibc/
งานจรรยาบรรณและธรรมาภิบาลการวิจัย
สำนักงานวิจัย นวัตกรรมและพันธมิตร มจธ.