เมื่อวันที่ 25–28 มิถุนายน 2568 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้จัดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการคณะวิทยาศาสตร์ ประจำปี พ.ศ. 2568 ภายใต้หัวข้อ “การทบทวนและจัดทำแผนปฏิบัติการต่อเนื่องตามตัวชี้วัดของแผนกลยุทธ์ ฉบับที่ 13 และข้อตกลงระดับมหาวิทยาลัย (KR คณะฯ) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569” โดยกิจกรรมจัดขึ้น ณ มจธ. และโรงแรมรอยัลฮิลล์ กอล์ฟ รีสอร์ท แอนด์ สปา จังหวัดนครนายก
การสัมมนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดพื้นที่ให้ผู้บริหาร คณาจารย์ และบุคลากรสายสนับสนุน ได้ร่วมกันทบทวนผลการดำเนินงานในปีงบประมาณที่ผ่านมา แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเชิงวิชาการและเชิงยุทธศาสตร์ รวมถึงร่วมกำหนดแนวทางการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 โดยเน้นการบูรณาการแผนปฏิบัติการให้สอดคล้องกับนโยบาย เป้าหมาย และทิศทางเชิงกลยุทธ์ของมหาวิทยาลัย

ในช่วงวันที่ 25–26 มิถุนายน 2568 รองศาสตราจารย์ ดร.ตุลา จูฑะรสก คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ได้กล่าวต้อนรับและเปิดการสัมมนา พร้อมด้วยการรายงานผลการดำเนินงาน ปีงบประมาณ 2568 โดยผู้บริหาร หัวหน้าภาควิชา และหัวหน้าหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงการนำเสนอภาพรวมและบทสรุปของแผนกลยุทธ์ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2565–2569) โดยรองคณบดีฝ่ายแผนยุทธศาสตร์ จากนั้นผู้เข้าร่วมได้ร่วมกิจกรรมระดมสมองในหัวข้อ “การทบทวนและจัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ของแผนกลยุทธ์ฉบับที่ 13 และตัวชี้วัด KR 12 ตัว” โดยแบ่งกลุ่มย่อยตามประเด็นยุทธศาสตร์หลักของคณะฯ ได้แก่ 1.1) การเรียนการสอน 1.2) การพัฒนานักศึกษา 2) วิจัย 3)บริการวิชาการ 4) ความเป็นสากล 5.1) บุคลากร ความผูกพัน และ 5.2) การใช้เทคโนโลยีดิจิตอล (digital literacy)

ในระหว่างวันที่ 27–28 มิถุนายน 2568 ได้จัดกิจกรรมเสริมสร้างความร่วมมือและพัฒนาทีมงาน โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิเชษฐ์ พินิจ อาจารย์คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มจธ. เป็นวิทยากรดำเนินกิจกรรมสร้างทีมงาน (Team Building) ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างความเข้าใจ ความสามัคคี และความร่วมมือในหมู่คณะ เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศการทำงานที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจาก ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ มาร่วมบรรยายพิเศษในหัวข้อ “การพัฒนาเศรษฐกิจไทยในโลกยุคผันผวน” เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนมุมมองและเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบริบททางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งเรียนรู้แนวทางการปรับตัวของภาคการศึกษาต่อกระแสความท้าทายเหล่านี้

ปิดท้ายโครงการด้วยการนำเสนอผลจากการระดมสมองของกลุ่มย่อย ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับใช้ประกอบการวางแผนและขับเคลื่อนการดำเนินงานของคณะฯ ให้มีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ต่อความท้าทายของการศึกษาในปัจจุบัน และส่งเสริมการพัฒนาคณะวิทยาศาสตร์อย่างยั่งยืนในอนาคต