ระหว่างวันที่ 18-20 สิงหาคม 2567 คณะวิทยาศาสตร์ ร่วมกับศูนย์ส่งเสริมและสนับสนุนมูลนิธิโครงการหลวงและโครงการตามพระราชดำริ มจธ. (RSC) นำโดย ผศ. ดร.เขมฤทัย ถามะพัฒน์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และภาคีความร่วมมือ ผศ. ดร.เยี่ยมพล นัครามนตรี ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายอุตสาหกรรมสัมพันธ์ และ คุณบวรศักดิ์ เพชรานนท์ รองผู้อำนวยการ RSC พร้อมทั้งอาจารย์ นักวิจัย จาก มจธ. ได้เข้าเยี่ยมชมและหารือโจทย์วิจัยร่วมกัน ณ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองเขียว ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง (สวนกุหลาบหลวง) และสถานีเกษตรหลวงปางดะ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

วันที่ 18 สิงหาคม 2567: เยี่ยมชมศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองเขียว

คณะฯ ได้ร่วมหารือกับหัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองเขียว กรรมการการบริหารจัดการน้ำ และกลุ่มเกษตรกรแปรรูปผลิตภัณฑ์ ในหลายหัวข้อ อาทิเช่น ภาพรวมการดำเนินงานของศูนย์ฯ ปัญหาและแนวทางการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงแนวทางการแปรรูปอะโวกาโดและมะม่วงแบบครบวงจร โดยได้มีการเยี่ยมชมบ่อเก็บน้ำหลักของกรมชลประทาน และตรวจเยี่ยมบริเวณน้ำซับของบ่อเก็บน้ำ และท่อส่งน้ำในพื้นที่บ้านหนองเขียว

วันที่ 19 สิงหาคม 2567: เยี่ยมชมศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ

คณะฯ มีโอกาสเยี่ยมชมโรงเรือน Smart Farm ที่เน้นการสร้างระบบควบคุมการเติบโตของพืชนอกฤดู เช่น สตรอว์เบอร์รี มะเดือฝรั่ง และมะเขือเทศ ฯลฯ ด้วยการพัฒนากลไกการควบคุมความชื้นและอุณหภูมิที่เหมาะสม รวมถึงการหาแนวทางการจัดการศัตรูพืชภายในโรงเรือนด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยมีหัวหน้าศูนย์ฯ และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส.) ร่วมในข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นให้ประเด็นดังกล่าว

วันที่ 20 สิงหาคม 2567: เยี่ยมชมศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง (สวนกุหลาบหลวง) และสถานีเกษตรหลวงปางดะ

ซึ่งคณะฯ ร่วมกับหัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง มีการหารือในประเด็นของการแปรรูปอะโวคาโด กุหลาบ และผักผลไม้หลากชนิดและสายพันธุ์ สำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยั่งยืน รวมถึงการมุ่งประเด็นในการศึกษากระบวนการการผลิตที่รองรับมาตรฐานของประเทศ ทั้งการบริหารจัดการพื้นที่โรงเรือน การจัดการน้ำ การยืดอายุผักและผลไม้ ก่อนร่วมหารือเพิ่มเติม ณ สถานีเกษตรหลวงปางดะ เพื่อแนวทางการบริหารจัดการและการแปรรูปผลผลิต เช่น ข้าวโพด ผักกาดขาวปลี มันเทศ มะเขือเทศ มะแข่วน ถั่วลายเสือ และเสาวรส ฯลฯ ในฤดูที่แตกต่างกัน เป็นต้น

ทั้งนี้ การเยี่ยมชมและประชุมหารือครั้งนี้เป็นการเปิดโอกาสให้เกิดความร่วมมือระหว่าง คณะวิทยาศาสตร์ ศูนย์ส่งเสริมและสนับสนุนมูลนิธิโครงการหลวงและโครงการตามพระราชดำริ มจธ. และ โครงการหลวง ซึ่งจะช่วยพัฒนางานวิจัยที่ตอบสนองต่อความต้องการของพื้นที่และเสริมสร้างศักยภาพในการพัฒนาเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนในจังหวัดเชียงใหม่

ในการนี้ฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม คณะวิทยาศาสตร์ ขอขอบคุณทุนอุดหนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ทุนสนับสนุนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ภายใต้รหัสโครงการ FRB660073/0164 ซึ่งเป็นแหล่งทุนที่สนับสนุนการดำเนินกิจกรรมการสร้างเครือข่ายในครั้งนี้