เมื่อวันอังคารที่ 16 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม นำโดย ผศ. ดร.เขมฤทัย ถามะพัฒน์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และภาคีความร่วมมือ ผศ. ดร.เยี่ยมพล นัครามนตรี ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายอุตสาหกรรมสัมพันธ์ และ อาจารย์ยุทธนา ลิลา ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสารสนเทศ พร้อมทั้งอาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ เดินทางไปเยี่ยมชมพื้นที่การวิจัยและห้องปฏิบัติการของ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ณ ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน จังหวัดกรุงเทพมหานคร เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือในการต่อยอดผลงานวิจัยจากสมุนไพร การพัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคม และการพัฒนาชุมชนในพื้นที่เครือข่ายความร่วมมือของมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร โดยมี รศ. ดร.อรพรรณ อนุรักษ์วรกุล รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ รศ. ดร.ธงชัย ขำมี รองคณบดีฝ่ายวิชาการ และอาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้การต้อนรับ

ในการนี้ ทีมคณาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มจธ. ได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชม 1) พื้นที่การวิจัยและพัฒนาสมุนไพรควบคุม (กัญชา) ทำให้ทราบถึงเทคนิคการปลูก การดูแล การผสมพันธุ์ และการสกัดสารจากกัญชาเพื่อนำไปทำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น น้ำมันสมุนไพร เจลลี่ ฯลฯ 2) พระนครคลินิกการแพทย์แผนไทยประยุกต์ โดยดูกระบวนการจัดการตั้งแต่เวชระเบียน การรักษา การจ่ายยา ไปจนถึงการแจ้งเตือนนัดหมาย และ 3) ห้องปฏิบัติการของสาขาวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง ซึ่งได้เยี่ยมชมเครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้ทดสอบเกี่ยวกับเวชสำอาง เช่น เครื่องทดสอบการซึมผ่านผิวหนังของยาและเครื่องสำอาง และเครื่องตรวจสภาพผิวหนัง หลังจากนั้นได้ประชุมร่วมกันเพื่อหารือแนวทางความร่วมมือในการแก้ปัญหาและต่อยอดผลงานวิจัย เช่น เทคนิคการสกัดสารสำคัญ การออกสูตรยา การพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์เพื่อการรักษาและเยียวยาผู้ป่วย การบริหารจัดการคลินิกโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และการวิจัยเชิงพื้นที่เพื่อพัฒนาชุมชนในพื้นที่อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี เป็นต้น ผ่านความร่วมมือในรูปแบบต่าง ๆ อาทิเช่น โครงการร่วมวิจัย การบริการวิชาการ การพัฒนานักศึกษาผ่านการเรียนการสอนแบบบูรณาการการเรียนรู้ร่วมกับการทำงาน (Work-integrated Learning) รวมไปถึงการใช้เครื่องมือทดสอบต่าง ๆ ร่วมกัน เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

ในการนี้ฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม คณะวิทยาศาสตร์ ขอขอบคุณทุนอุดหนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ทุนสนับสนุนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ภายใต้รหัสโครงการ FRB660073/0164 ซึ่งเป็นแหล่งทุนที่สนับสนุนการดำเนินกิจกรรมการสร้างเครือข่ายในครั้งนี้