เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2568 คณะวิทยาศาสตร์ นำโดย รศ. ดร.ตุลา จูฑะรสก คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ได้ร่วมแสดงความยินดีกับอาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ได้รับทุนจากมูลนิธิกระจกอาซาฮี ประจำปี 2568 จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ ผศ. ดร.จิรายุส เอื้อนรเศรษฐ์ อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา ได้รับทุนสาขาชีววิทยาศาสตร์ (Life Sciences) โครงการการศึกษาคุณสมบัติของเอนไซม์คาร์บอกซีเอสเทอเรสจากแบคทีเรีย Planococcus สายพันธุ์ PP5 สำหรับการย่อยสลาย PET เพื่อส่งเสริมการอัพไซเคิล PET และ ผศ. ดร.วันดี อ่อนเรียบร้อย อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ ได้รับทุนสาขาพลังงาน (Energy) โครงการนวัตกรรมการประยุกต์ใช้ไฟฟ้าสถิตและสนามแม่เหล็กเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้ก๊าซธรรมชาติในภาคอุตสาหกรรมและภาคการผลิตไฟฟ้า
ในพิธีมอบทุนวิจัยประจำปี 2568 (Research Grant Award Ceremony 2025โดย มูลนิธิกระจกอาซาฮี (The Asahi Glass Foundation – AF) ประเทศญี่ปุ่น ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) โดย มร.ทาคุยะ ชิมามุระ (Mr. Takuya Shimamura) ประธานมูลนิธิกระจกอาซาฮี และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท AGC Inc. รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. กล่าวแสดงความยินดีกับผู้ได้รับทุน และ ดร.กัญญวิมว์ กีรติกร รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มจธ. กล่าวรายงาน พร้อมด้วยผู้บริหารมูลนิธิกระจกอาซาฮี ผู้บริหารบริษัทในเครือ AGC Group และผู้บริหารมหาวิทยาลัยเข้าร่วมแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับทุนวิจัย ณ ห้อง LIB108 สำนักหอสมุด มจธ.
รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. กล่าวว่าทุนวิจัยมูลนิธิกระจกอาซาฮีเป็นทุนสนับสนุนนักวิจัยในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่นำไปสู่แนวทางแก้ไขปัญหาที่ตอบโจทย์สังคมและอุตสาหกรรมต่อไปในอนาคต โดยมูลนิธิฯ ได้มอบทุนให้ มจธ. อย่างต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 14 ซึ่งในปีนี้ มจธ. ได้รับสนับสนุนทุนวิจัยจากมูลนิธิฯ จำนวน 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ (USD) และมหาวิทยาลัยร่วมสมทบทุนวิจัยอีก จำนวน 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ (USD) รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ (USD) หรือประมาณ 3.2 ล้านบาท ให้กับ 7 โครงการ ใน 5 สาขาการวิจัย
นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอผลงานจากนักวิจัยที่ได้รับทุนที่ผ่านมา จำนวน 11 ผลงาน โดยมีโครงการจากนักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ จำนวน 3 ท่าน ได้แก่ 1) ผศ. ดร.นนท์ ทองโปร่ง ผลงานเรื่อง การพัฒนาคำอธิบายที่ถูกต้องของวัดกระแสไฟฟ้าที่ถูกจำกัดด้วยประจุอิสระหลังถูกป้อนด้วยศักย์ไฟฟ้าในชั้นฟิล์มบางวัสดุเพอรอฟสไกต์สำหรับการวัดคุณสมบัติการนำพาประจุที่แม่นยำ ด้วยการศึกษาเชิงการคำนวณด้วยการเรียนรู้ของเครื่องและการทดลอง 2) ดร.กิตติชัย ไชยสีดา ผลงานเรื่อง ตัวเร่งปฏิกิริยาที่แยกออกได้ด้วยแม่เหล็กสำหรับการทรานส์เอสเทอริฟิเคชันของน้ำมันปาล์มเป็นไบโอดีเซล และ 3) ผศ. ดร.เยี่ยมพล นัครามนตรี ผลงานเรื่อง ยางธรรมชาติฆ่าเชื้อผสมเศษล้อยางรถยนต์จากกระบวนการเตรียมแบบหลอมและแบบน้ำยางเพื่อขยายขอบเขตผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติ การหาโครงสร้างอิเล็กโทรดสำหรับอุปกรณ์พลังงานไฟฟ้าเคมี
ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.facebook.com/BangmodNews