ด้วย ผศ. ดร.เยี่ยมพล นัครามนตรี ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายอุตสาหกรรมสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้ประสานและหารือแนวทางความร่วมมือในการทำงานวิจัยเชิงพื้นที่ร่วมกับฝ่ายพันธกิจวิจัยเพื่อสังคม สำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) จึงนำมาสู่กิจกรรม Kick-off งานเชิงพื้นที่ มจธ. x ม.อ. เมื่อวันเสาร์ที่ 6 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา

ฝั่ง มจธ. นำโดย รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี รศ. ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ที่ปรึกษามหาวิทยาลัย คุณสุเมธ ท่านเจริญ ที่ปรึกษาศูนย์ส่งเสริมและสนับสนุนมูลนิธิโครงการหลวงฯ ผศ. ดร.วรพจน์ อังกสิทธิ์ คณบดี GMI รศ. ดร.ธเนศ ธนิตย์ธีรพันธ์ คณบดีคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ผศ. ดร.มนัญญา เพียรเจริญ ผู้ช่วยอธิการบดีพื้นที่ราชบุรี ผศ. ดร.มงคล อัศวดิลกฤทธิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและสื่อสารองค์กร GMI และ ผศ. ดร.เยี่ยมพล นัครามนตรี ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายอุตสาหกรรมสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ และฝั่ง ม.อ. นำโดย ดร.ณัฐพนธ์ อุทัยพันธ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริการวิชาการและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ดร.กานดา เซ่งลอยเลื่อน รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา พร้อมด้วย ดร.นาอีม หมัดสะหริ หัวหน้าศูนย์วิจัยและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล และ คุณศศิธร คงทอง รักษาการหัวหน้าฝ่ายพันธกิจวิจัยเพื่อสังคม สำนักวิจัยและพัฒนา ซึ่งเป็นตัวแทนผู้บริหารและบุคลากรของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) จากวิทยาเขตหาดใหญ่และปัตตานี ประกอบด้วย (1) สำนักวิจัยและพัฒนา (2) สำนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และพันธกิจสังคม (3) สถาบันฮาลาล (4) คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ (5) พิพิธภัณฑ์ประวัติธรรมชาติและเครือข่ายเรียนรู้ท้องถิ่น ได้ลงพื้นที่ ณ วิสาหกิจชุมชนตาลโตนด โหนด-นา-เล ตำบลท่าหิน อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา เพื่อหารือการทำงานร่วมศาสตร์ สร้างวิจัย และนวัตกรรม สำหรับการนำไปใช้ประโยชน์

กิจกรรมในช่วงเช้าประกอบด้วยการนั่งเรือหางยาวสำรวจพื้นที่บริเวณคลองวัดท่าหินซึ่งเป็นเส้นทางน้ำเชื่อมต่อกับทะเลสาบสงขลาและเขตพื้นที่ทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง เพื่อการศึกษาภูมิปัญญาในการอนุรักษ์สัตว์น้ำพื้นถิ่นจากการทำบ้านปลา และการศึกษาระบบนิเวศแบบหมุนเวียน โดยมี คุณพูนทรัพย์ ชูแก้ว ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนตาลโตนดฯ และทีมงาน ซึ่งเป็นชาวประมงพื้นบ้านและเป็นเจ้าของเรือ เป็นผู้บรรยาย/ให้ข้อมูล ในช่วงบ่าย มีการประชุมร่วมกัน 3 ฝ่าย ณ ศูนย์เรียนรู้วิถีโหนด-นา-เล ร่วมกับทีม ม.อ. วิทยาเขตปัตตานี ถึงการทำงานเชิงพื้นที่ร่วมกับ มจธ. อาทิ พื้นที่ป่าฮาลาบาลา อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส พื้นที่ในจังหวัดสตูลเพื่อผลักดันสู่การเป็นสมาชิกเมืองแห่งการเรียนรู้ และพื้นที่ในหมู่บ้านคีรีวง อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช

จากการประชุม ทำให้เห็นแนวทางที่ดีในจะดำเนินงานร่วมกันหลายรูปแบบจากการ Matching ความต้องการของแต่ละพื้นที่ร่วมกับความเชี่ยวชาญของอาจารย์และนักวิจัยของทั้ง 2 มหาวิทยาลัย โดยจะมีการดำเนินการร่วมหารืออย่างต่อเนื่องเพื่อการผลักดันงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ร่วมกันต่อไป