อะตอมเคยได้มีโอกาสสัมภาษณ์ผลงานวิจัยของ ผศ. ดร.นพวรรณ ปาระดี อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ และหนึ่งในนักวิจัยจากกลุ่มวิจัย SPICE (Sustainable Polymer & Innovative Composite Materials Research Group) ซึ่งเป็นผู้คิดค้นแผ่นแปะนำส่งยาผ่านทางผิวหนังมนุษย์ ซึ่งในภาคต่อนี้ทีมอาจารย์ได้สร้างแผ่นแปะนำส่งยาแก้ปวดกลุ่มตัวยา Ibuprofen ที่ใช้ฐานเทคโนโลยีจากงานวิจัยก่อนหน้ามาปรับปรุงและพัฒนาร่วมกับทีมวิจัยที่ประเทศไต้หวัน ต้องขอบอกเลยว่าใกล้ความเป็นจริงที่คนไทยจะมีผลิตภัณฑ์นี้ไว้ใช้เองกันแล้ววววว!!!!
อาจารย์เล่าให้ฟังว่า เทคโนโลยีการทำไอออนโตโฟรีซิส (Iontophoresis) ที่นิยมใช้ในคลินิกเสริมความงามที่เป็นกระบวนการผลักสารบำรุงผิวหน้าผ่านผิวหนังโดยอาศัยความต่างศักย์ไฟฟ้า ยังคงเป็นหัวใจสำคัญของหลักการในการสร้างแผ่นแปะนำส่งยานี้อยู่ แต่ทีมวิจัยได้พัฒนาในด้านความแข็งแรงของแผ่นแปะนำส่งยา และตัวยาที่เลือกมาใช้ในการทดสอบ
Q: อาจารย์ครับ ทำไมถึงเลือกยาแก้ปวดมาทำแผ่นแปะนำส่งยาละครับ?
A: อะตอมเคยทานยาแก้ปวดแล้วปวดท้องเพราะยากัดกระเพาะไหมคะ ถ้าเคยครูจะบอกเลยว่า นี่คือคำตอบว่าทำไมต้อง Ibuprofen ค่ะ ปัญหาหลักของการรับประทานยาแก้ปวดในกลุ่มนี้ คือ มีผลข้างเคียงในการกัดกระเพาะ ผู้ป่วยจะต้องทานยากลุ่มนี้หลังรับประทานอาหารทันที อีกทั้งยังลดทอนปริมาณของยาลงและใช้ระยะเวลานานกว่าร่างกายจะดูดซึมตัวยาเข้าไป ซึ่งตัวยาบางตัวอาจจะต้องรอเวลาในการออกฤทธิ์นานเป็นชั่วโมงจึงจะได้ผล หรือแม้แต่การฉีดก็ยังเกิดปัญหาที่จะต้องได้รับการฉีดโดยพยาบาลหรือผู้ชำนาญเฉพาะทางเท่านั้น ทีมวิจัยเราจึงพยายามสร้างวิธีการที่ทำให้ยาเข้าสู่ร่างกายในปริมาณที่กำหนดโดยอาศัยการนำไฟฟ้าด้วยเครื่องกำเนิดกระแสไฟฟ้าแบบพกพา เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงใด ๆ และข้อจำกัดต่าง ๆ ของการใช้ยาในกลุ่มนี้นั่นเอง
Q: แผ่นแปะนำส่งยาก่อนหน้านี้เกิดปัญหาอะไรหรอครับ ถึงทำให้เกินผลงานนี้ครับอาจารย์?
A: ก่อนหน้านี้ทีมวิจัยได้พัฒนาแผ่นแปะนำส่งตัวยา ในลักษณะของแผ่น Hydrogel (แผ่นพอลิเมอร์ชอบน้ำที่มีโมเลกุลเป็นแบบโครงร่างตาข่าย) ซึ่งมีความอ่อนนุ่มยืดหยุ่นแต่ในแง่ของการใช้งานจริงกลับมีข้อเสียเรื่องความแข็งแรง ทางทีมวิจัยจึงพยายามคิดค้นองค์ประกอบต่าง ๆ ในการสร้างแผ่นแปะ Hydrogel ที่จะคงความแข็งแรงเอาไว้ได้ จนในที่สุดเราค้นพบสารเติมแต่งชนิดนั่นก็คือ Bacterial Cellulose เป็นโครงเส้นใยธรรมชาติที่สกัดจากเนื้อมะพร้าวซึ่งมีความสามารถในการเพิ่มความแข็งแรงของแผ่น Hydrogel ได้ และนอกจากนั้นยังมีสารเติมแต่งที่มีชื่อว่า Polypyrrole ใช้สำหรับผสมกับตัวยา Ibuprofen ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการนำไฟฟ้าของตัวยาสูงขึ้นถึง 78% ทีมวิจัยใช้เวลาในการคิดค้นและศึกษาอัตราส่วนของสารเคมีต่าง ๆ ที่มีความซับซ้อนจนสามารถนำมาขึ้นรูปเป็นแผ่นแปะนำส่งยา Ibuprofen ได้ในที่สุด
Q: เดี๋ยวนะครับอาจารย์ ทุกวันนี้ถ้าเรามีอาการปวดจากการอักเสบของกล้ามเนื้อ เราก็มีครีมทาหรือแผ่นแปะแก้ปวดอยู่ตามท้องตลาดแล้วหนิครับ แล้วแบบนี้ทำไมยังต้องใช้แผ่นแปะของอาจารย์ละครับ?
A: เป็นคำถามที่ดีเลยค่ะอะตอม สิ่งที่เราพิสูจน์มาแล้วจากการจำลองสภาวะผิวหนังเสมือนจริงของมนุษย์ เราพบว่าการทดสอบการซึมผ่านของตัวยาแผ่นแปะนำส่งยานี้มีความเร็วที่สูงมาก เพียงไม่ถึง 30 นาที ตัวยาทั้งหมดก็ซึมผ่านจนถึงจุดที่ต้องการรักษาได้เลย เคยเห็นไหมคะ จะมีผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บบางคนทายาแก้ปวดหรือแปะแผ่นบรรเทาปวดแต่ไม่หายสะที หรือไม่ทุเลาลงสะที มันเป็นเพราะว่ามนุษย์เราจะมีชั้นไขมันอยู่ที่เป็นตัวขัดขวางการซึมผ่านของตัวยาบนแผ่นแปะหรือครีมทาแก้ปวดทั่วไป ซึ่งร่างกายมนุษย์แต่ละคนจะมีชั้นไขมันที่แตกต่างกันออกไปจึงเป็นเหตุให้การรักษาในวิธีการเหล่านี้ได้ผลที่แตกต่างกันนั่นเอง แต่ถ้าเราใช้การนำส่งด้วยไฟฟ้าปัญหาเหล่านี้ก็จะหมดไปนั่นเองค่ะ
โอ้วโหวว!!!! ใกล้เข้ามาอีกขั้นแล้วกับงานวิจัยโดยคนไทยที่จะสร้างเทคโนโลยีของ Wellness Society เพื่อตอบรับสังคมสูงวัยในอนาคต ที่ผู้ป่วยจะได้รับยารักษาที่ตรงจุดและสามารถควบคุมปริมาณของยาได้ตามต้องการ โดยที่ปริมาณของยาจะไม่ถูกลดทอนจากการกิน อีกทั้งวิธีการนี้ยังง่ายและสะดวกอย่างมาก เนื่องจากผู้ป่วยสามารถทำได้เองที่บ้านซึ่งต่างจากการฉีดยาที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องเดินทางไปรับยาการฉีดยาที่โรงพยาบาลหรือใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในการฉีดยาเท่านั้น สุดยอดไปเลยครับทีมวิจัยนี้!!!
อะตอมได้ชวนคุยต่อถึงแผนการพัฒนาเทคโนโลยีการนำส่งยาผ่านทางผิวหนังมนุษย์ของทีมวิจัยนี้ ปรากฏว่า ทางทีมวิจัย SPICE ได้มีแผนที่จะนำผลงานนี้ส่งขอการรับรองจากทางองค์การอาหารและยา (อย.) ในขั้นต่อไป นั่นแปลว่าอีกไม่นาน เราอาจจะเห็นแผ่นแปะนำส่งยาผ่านผิวหนังมนุษย์ที่คิดค้นโดยคนไทยและวางขายอยู่ในร้านขายยาใกล้บ้านคุณ!!!
ซึ่งผลงานชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Materials Science & Engineering C ปี 2021 (Q1: Impact factor = 5.044 อ้างอิงฐานข้อมูล Scopus ณ วันที่ 1 ธันวาคม 2564) ในชื่อผลงาน “Electrically Controlled Transdermal Ibuprofen Delivery Consisting of Pectin-Bacterial Cellulose/Polypyrrole Hydrogel Composites” ???
#FSciResearchInnovation #KMUTT
ติดตามอ่านต่อได้ที่: ??
https://www.facebook.com/111399760214350/posts/752535456100774/
Publication URL: ??
https://link.springer.com/article/10.1007/s10570-021-04259-x?fbclid=IwAR1X8eSB-sOZttac4cyDUiPFHfepErCnxrQtvt15HA0mHJLMVb4M6NkABQ8